อยากจะเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ”?

ถ้าให้ความเย่อหยิ่งออกหน้า คนมาอับอายก็จะตามมาทีหลัง

อยากจะเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ”?

หากเราเปิดสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ เราจะพบกับ “ผู้เชี่ยวชาญ” มากมาย หลากหลายอาชีพ .... ไม่ว่าจะเป็นในหน้าหนังสือพิมพ์ ในรายการโทรทัศน์ ในงานสัมนาวิชาการ หรือใน news feed

การที่เราจะเรียกคน ๆ หนึ่งว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ได้นั้น เราพิจารณาจากอะไร? พิจารณาจากประวัติการศึกษา? พิจารณาจากชื่อเสียง? ต้องมีประสบการณ์งานมากน้อยเท่าไร?

มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญนั้นทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ และด้วยวิธีง่ายๆ ... เพียงเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเข้าฟังสัมนาบ่อยๆ อ่านหนังสือเยอะๆ หรือ พูดคุยกับผู้คนหลากหลาย แล้วนำมาถ่ายทอดต่อ

ทุกวันนี้ เรามีจึงคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” เต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมออนไลน์ที่ความสะดวกสบายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทำให้การแสดงความเห็นทำได้ง่าย เพียงการ “Post” และกระจายของข่าวและข้อมูลที่ทำได้ในเสี้ยววินาทีผ่านการ “Share”

วิธีการที่จะเก่งได้ เราจำเป็นต้องมี 3P’s คือ Practice Practice และ Practice

Harvard Business Review ทำงานวิจัยเรื่อง “The Making of an Expert” และพบว่าการเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” นั้น ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ... เราคงเคยได้ยินกันว่าวิธีการที่จะเก่งได้ เราจำเป็นต้องมี 3P’s คือ “Practice Practice และ Practice” ...งานวิจัยของ Harvard Business Review บอกไว้ว่านักดนตรีที่มีความสามารถนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-25 ปี ในการฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง ถึงจะสามารถชนะการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ... นักเขียนชื่อดัง Malcolm Gladwell ได้เขียนไว้เช่นกันว่าเราสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานใดายงานหนึ่งได้ หากเราใช้เวลา 10,000 ชั่วโมงฝึกฝนและพัฒนาทักษะนั้นๆ ...

แต่การฝึกเยอะๆ อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเพราะ Quality ของการฝึกฝน สำคัญไม่น้อยไปกว่า Quantity ของการฝึกฝน

Quality ของการฝึกฝน
   สำคัญไม่น้อยไปกว่า
   Quantity ของการฝึกฝน

การฝึกฝนที่ได้ผลดี ไม่ใช่ “practice” แต่เป็น “deliberate practice” หรือการฝึกฝนอย่างตั้งใจและมีหลักการ ... ตัวอย่างเช่น นักดนตรีทั่วไปมักจะชอบซ้อมเพลงที่ตัวเองเล่นได้เพราะ แต่นักดนตรีที่เก่งระดับโลกนั้นจะใช้เวลาไปกับท่อนเพลงที่ยากหรือท่อนที่ตัวเองเล่นได้ไม่ดี เป็นการฝึกฝนเพื่อ “อัฟเกรด” ทักษะอย่างมีเป้าหมาย ... ผู้เชี่ยวชาญที่เก่งนั้นไม่ฝึกฝนด้วยการทำซ้ำๆ อย่างเรื่อยเปื่อย แต่จะฝึกฝนแบบมีกลยุทธ์ มีการตั้งเป้าหมาย มีการติดตามผลงาน ใส่ใจในรายละเอียด จี้จุดอ่อนของตัวเอง และคอยพัฒนาความสามารถให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ จาก feedback นั่นคือ

ผู้เชี่ยวชาญ จำเป็นต้องมี ชั่วโมงบิน

เป็นคนที่ทำจริง พลาดจริง เจ็บจริง และ เรียนรู้จริง หรือตามสำนวนภาษาอังกฤษคือเป็นคนที่ “Get one’s hands dirty”ลงไปสัมผัสคลุกคลีกับงาน ลุยงานและแก้ปัญหาแบบไม่กลัวมือเปื้อน

หากเราคิดจะพัฒนาความเชี่ยวชาญ เราควรเริ่มต้นอย่างไร?

สังคมของเราให้ความสำคัญกับ “การฟัง” พอสมควร ... มีงานสัมนา งานบรรยายต่างๆ มากมาย ไม่ขาดสาย ที่เน้นการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่นำประสบการณ์มา “บอกต่อ”

หากเราย้อนนึกไปถึงหลักการ deliberate practice แล้วนั้น เราอาจจะคิดได้ว่า

การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งที่สุด อาจไม่ใช่การไป “ฟัง” เรื่องเล่าของผู้เชี่ยวชาญเพียงเท่านั้น แต่เป็นการลองลงมือทำให้มือเปื้อน get your hands dirty ด้วยตนเองด้วย

 

แหล่งความรู้ คุณ เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

 3958
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

สิ่งสำคัญในการทำงานหรือการทำทุกสิ่งอย่างนั่นคือ ทัศนคติ ถ้าดีก็ยิ่งช่วยให้ทุกอย่างดีไปด้วย แต่ถ้าแย่ก็ส่งผลร้ายเช่นกัน
หากคุณอยากเป็นผู้นำที่ใครๆต่างเคารพและเชื่อฟัง คุณจะต้องรู้จักวิธีการเป็นผู้นำที่ดี
จงทำตามหัวใจปรารถนา ด้วยศรัทธาแรงกล้าของตัวเอง จงรักงานที่คุณทำไม่กลัวเกรง มุ่งมั่นเก่งเรื่องเดียวเชี่ยวชาญจริง
เวลา คือ ช่วงที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เวลามีอยู่สองประเภท คือ เวลาตามนาฬิกากับเวลาที่แท้จริง เหตุผลที่เครื่องมือบริหารจัดการเวลาใช้ไม่ได้ผล ก็เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับเวลาตามนาฬิกา แต่เวลาแบบนี้มันไม่สัมพันธ์กับชีวิตของเรา

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์